มาตรฐานทางจริยธรรม ประมวลจริยธรรม ข้อกำหนดจริยธรรม และ กระบวนการรักษาจริยธรรมของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

   มาตรฐานทางจริยธรรม ประมวลจริยธรรม ข้อกำหนดจริยธรรม และ

กระบวนการรักษาจริยธรรมของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

                 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเรื่องร้องเรียน การดำเนินงานวินัย อุทธรณ์ ร้องทุกข์ และการดำเนินคดีของรัฐ ตามระเบียบกฎหมาย ให้สอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงาน โดยมีการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานวินัย อุทธรณ์ ร้องทุกข์ และการดำเนินคดีของรัฐ ในปีที่ผ่านมาเพื่อกำหนดทิศทางการปฏิบัติงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 ตามบทบาท อำนาจหน้าที่ ภาระงาน ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กำหนด เช่น การส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาการมีวินัยและการรักษาวินัย   การดำเนินการสืบสวนเรื่องร้องเรียน การสอบสวนวินัย การดำเนินการเกี่ยวกับการอุทธรณ์ ร้องทุกข์  การดำเนินคดีของรัฐ การดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ การศึกษา วิเคราะห์ วิจัย จัดทำข้อมูลและติดตามประเมินผลเพื่อพัฒนางานกฎหมายและงานคดีของรัฐ สำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด เพื่อให้ผู้กระทำผิดวินัยลดลงจากในปีที่ผ่านมา หรือไม่มีผู้กระทำผิดวินัย  จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของหน่วยงานทางการศึกษา และควบคุมดูแลข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ มีวินัย มีคุณธรรมจริยธรรม ซื่อสัตย์สุจริต มีคุณภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ

ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ.2562 และระเบียบคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำประมวลจริยธรรม ข้อกำหนดจริยธรรม และกระบวนการรักษาจริยธรรมของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ.2563 ข้อ 5 ข้อ 19 และข้อ 20 กำหนดให้ ก.ค.ศ. ในฐานะองค์กรกลางบริหารบุคคล มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา แล้วให้จัดส่งประมวลจริยธรรมดังกล่าวไปประกาศในราชกิจจานุเบกษารวมทั้งเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในความรับผิดชอบทราบและถือปฏิบัติโดยทั่วกัน สำนักงาน ก.ค.ศ.จึงได้จัดทำประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนพิเศษ 213 ง เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 และตามหนังสือ สพฐ. ที่ ศธ 04009/ว4648 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2564 แจ้งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทำการศึกษาประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และดำเนินการจัดทำมาตรการในการป้องกัน/แก้ไขปัญหา พร้อมทั้งขับเคลื่อนมาตรการอย่างต่อเนื่อง และถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดโดยทั่วกัน

ดังนั้น เพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีความรู้แนวทางการควบคุมความประพฤติ การปฏิบัติตน มีความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และโปร่งใส ธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรี โดยการสร้างเสริมวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับหน่วยงานทางการศึกษา การไม่สร้างเสริมวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ อาจส่งผลกระทบต่อระบบสังคม การเมืองการปกครอง การบริหารงานเป็นอย่างมาก การส่งเสริม ควบคุมดูแลข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด ให้ปฏิบัติงานด้วยความรับผิดชอบ  มีวินัย  ปลูกฝังค่านิยม

ที่ถูกต้อง ความซื่อสัตย์สุจริต ตามมาตรฐานทางจริยธรรม ประมวลจริยธรรม ข้อกำหนดจริยธรรม และกระบวนการรักษาจริยธรรมของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ดังนี้

  1. พระราชบัญญัติ มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562

หมวด 1 มาตรฐานทางจริยธรรมและประมวลจริยธรรม

มาตรา 5 มาตรฐานทางจริยธรรม คือ หลักเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งจะต้องประกอบด้วย

(1) ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

(2) ซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดี และรับผิดชอบต่อหน้าที่

(3) กล้าตัดสินใจ และกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม

(4) คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว และมีจิตสาธารณะ

(5) มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน

(6) ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ

(7) ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ทางราชการ

มาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้เป็นหลักสำคัญในการจัดทำประมวลจริยธรรมของหน่วยงานของรัฐที่จะกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เกี่ยวกับสภาพคุณงามความดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องยึดถือสำหรับการปฏิบัติงาน การตัดสินความถูกผิด การปฏิบัติที่ควรกระทำหรือไม่ควรกระทำ ตลอดจนการดำรงตนในการกระทำความดีและละเว้นความชั่ว

  1. ประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ของ ก.ค.ศ.

โดยที่เป็นการสมควรให้มีประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งกำหนดให้มี มาตรฐานทางจริยธรรมเป็นหลักเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อใช้เป็นหลักสำคัญในการจัดทำประมวลจริยธรรมของหน่วยงานของรัฐ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 ก.ค.ศ. ในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงกำหนดประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อใช้เป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษานี้ มีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ข้อ 2 “ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ” หมายความว่า ข้าราชการครูและ บุคลากรทางการศึกษา ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

ข้อ 3 ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องประพฤติปฏิบัติตนเพื่อรักษาจริยธรรม ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ ดังนี้

(1) ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

(2) ซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดี มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และต่อผู้เกี่ยวข้องในฐานะ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

(3) กล้าคิด กล้าตัดสินใจ กล้าแสดงออก และกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม

(4) มีจิตอาสา จิตสาธารณะ มุ่งประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกพ้อง

(5) มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน มุ่งมั่นในการปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ ที่สะท้อนถึงคุณภาพผู้เรียนและคุณภาพการศึกษา

(6) ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ

(7) ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

(8) เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คำนึงถึงสิทธิเด็ก และยอมรับความแตกต่างของบุคคล

ข้อ 4 หากข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ใดจะต้องยึดถือหรือปฏิบัติ  ตามจรรยาบรรณ ของวิชาชีพตามกฎหมายหรือข้อบังคับอื่นใดที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ นอกจากจะต้องรักษาจริยธรรมตามที่บัญญัติไว้ในประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษานี้แล้ว จะต้องยึดมั่นในจรรยาบรรณ ของวิชาชีพนั้นด้วย

ข้อ 5 การจัดทำแนวทางการประพฤติปฏิบัติตนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษานี้ ให้เป็นไปตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด

ข้อ 6 ให้พนักงานราชการ ครูอัตราจ้าง ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นในหน่วยงานการศึกษา ประพฤติปฏิบัติตนตามประมวลจริยธรรมข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษานี้ด้วย

ข้อ 7 ให้ประธาน ก.ค.ศ. รักษาการตามประมวลจริยธรรมนี้

ประกาศ ณ วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ตรีนุช เทียนทอง

 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ประธาน ก.ค.ศ.

 

 

 

 

 

Comments

No comments yet. Why don’t you start the discussion?

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *