เทคนิคการพูดต่อสาธารณชน

1. ให้ความสนใจกับเรื่องที่คุณจะพูด

ทุกคนล้วนต้องการได้ยินได้ฟังแต่เรื่องราวดี ๆ มีประโยชน์ และน่าสนใจ นอกจากเรื่องที่คุณจะพูดจะต้องมีคุณค่าแล้ว เรื่องนั้น ๆ จะต้องสร้างผลกระทบที่ดีต่อกลุ่มผู้ฟังได้ เช่น เป็นเรื่องที่เป็นบทเรียนชีวิต หรือสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้ ที่สำคัญคุณต้องรู้ว่ากลุ่มผู้ฟังของคุณเป็นใคร และพยายามพูดเรื่องที่พวกเขาจะเข้าใจและเชื่อมโยงกับตัวของพวกเขาเองได้

2. อย่าอ่านสคริปต์

คุณจะรู้สึกอย่างไรถ้าคุณต้องนั่งฟังคนบนเวทีอ่านหนังสือให้คุณฟัง แม้การพูดต่อหน้าคนเยอะ ๆ จะเป็นเรื่องที่กดดัน แต่คุณก็สามารถเตรียมตัวล่วงหน้าได้ ถ้าคุณทำการบ้านมาดีและเข้าใจในสิ่งที่คุณจะพูดอย่างลึกซึ้ง ไม่จำเป็นต้องมีสคริปต์ คุณก็สามารถพูดได้อย่างมั่นใจ และคนฟังจะสามารถสัมผัสได้ถึงความน่าเชื่อถือ

3. ซ้อมด้วยการอัดวิดีโอแล้วดูตัวเองพูด

เราจะได้เห็นทุกอย่างจากการสังเกตการพูดของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสีหน้า ท่าทาง การใช้ถ้อยคำ น้ำเสียง และจังหวะจะโคน คุณจะได้เห็นข้อดีและข้อเสียของตัวเองก่อนใคร ๆ และสามารถปรับปรุงการพูดของคุณได้ทัน ก่อนการพูดจริงจะมาถึง

4. อย่าอ้างแต่สถิติ และคำคมของคนอื่น

ถึงแม้ตัวเลขสถิติจะน่าเชื่อถือ และคำคมจะลึกซึ้งกินใจขนาดไหน แต่ถ้าคุณอ้างถึงสิ่งเหล่านั้นมากเกินไป คนฟังจะไม่สนใจในสิ่งที่คุณพูดอีกต่อไป เพราะเขาจะรู้สึกว่าคุณไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง คุณต้องแสดงความคิดเห็นของคุณเองบ้าง เพราะคนฟังอยากได้ยินสิ่งที่คุณพูด การแบ่งปันประสบการณ์และมุมมองจากตัวคุณเองจะทำให้ผู้ฟังสนใจกับการได้รับข้อมูลใหม่ ๆ ที่พวกเขาไม่เคยรู้มาก่อน

5. ใช้รูปภาพเสริมความเข้าใจ

หากเป็นการพูดที่ต้องมีการนำเสนอข้อมูลจำนวนมาก การทำสไลด์การนำเสนอควรใช้รูปเยอะ ๆ ใช้ฟ้อนต์ตัวใหญ่ ๆ สำหรับคำพูดสำคัญที่คุณต้องการเน้น และอย่าใส่ข้อความยาวเหยียด คนจะไม่ฟังที่คุณพูดเพราะพวกเขาสามารถอ่านเองได้

6. แสดงความกระตือรือร้นในการพูด

แสดงออกมาผ่านทางสีหน้า ท่าทาง การเคลื่อนไหวของเรา อย่าลืมว่าทุกสิ่งที่เราแสดงออกจะถูกจับจ้องจากสายตาของผู้ฟังทุกคน ถ้าแสดงออกถึงความตั้งใจในการพูด คนฟังก็จะตั้งใจฟังคุณเช่นกัน

7. อย่าฝืนเล่าเรื่องตลก ถ้าคุณไม่ถนัด

การสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเองในการพูดเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าปกติคุณไม่เก่งในการเล่าเรื่องตลกกับเพื่อนฝูงของคุณอยู่แล้ว ยิ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำในการพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก เพราะมุกของคุณอาจทำลายเรื่องราวดี ๆ ที่คุณพูดมาทั้งชั่วโมง และเรื่องบางเรื่องอาจไปกระทบจิตใจผู้ฟังบางกลุ่มได้

8. ให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมบ้าง

แจ้งให้ผู้ฟังทราบตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการพูดว่าจะเปิดให้มีการถาม-ตอบปัญหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องที่คุณพูด เมื่อผู้ฟังรู้ว่าคุณเปิดโอกาสให้พวกเขามีส่วนร่วมในการตั้งคำถาม พวกเขาจะเตรียมคิดคำถามระหว่างที่ฟังคุณพูด และนั่นจะทำให้ผู้ฟังตั้งใจฟังคุณพูดมากยิ่งขึ้น เพื่อจะได้รู้ว่าพวกเขาควรจะถามอะไร

9. ตอบคำถามนอกรอบ

ถ้าคุณเป็นนักพูดมือใหม่ การตอบคำถามจากผู้ฟังไม่ได้อาจสร้างความลำบากและส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งของตัวคุณเองและความเชื่อมั่นของผู้ฟังที่มีต่อตัวคุณ ถ้าคุณยังไม่มั่นใจว่าจะตอบได้ทุกคำถาม คุณควรจัดให้มีการตอบคำถามแบบตัวต่อตัวนอกรอบ เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับผู้ฟังที่สนใจในเรื่องที่คุณเพิ่งพูดไป

10. เป็นตัวของตัวเอง

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการพูดคือความเชื่อมั่นในตัวของคุณเอง เชื่อมั่นในสิ่งที่คุณเป็น และเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองจะบอกเล่าให้แก่ผู้ฟัง  ความมั่นใจนี้จะถูกสะท้อนออกมาผ่านน้ำเสียงในการพูดของคุณ ผู้ฟังจะเกิดความประทับใจและจดจำได้ทั้งตัวคุณและเรื่องราวดี ๆ ที่คุณพูด

Comments

No comments yet. Why don’t you start the discussion?

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *