ความรู้เกี่ยวกับการนิเทศการศึกษา

ปัจจุบัน งานในด้านการศึกษาได้เจริญก้าวหน้าไปมาก มีการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ ประการ  เช่นการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร ความรู้ในสาขาวิชาการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น แนวความคิดและแนวการเรียนการสอนใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น  ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงจุดมุ่งหมายของการศึกษา แต่ยังพบว่า ผู้บริหาร ครู  และผู้เกี่ยวข้องบางคน   ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง ปัญหาดังกล่าวข้างต้นสามารถจะแก้ไขได้โดยอาศัยผู้นิเทศ หรือศึกษานิเทศก์ ซึ่งมีหน้าที่นิเทศการศึกษาให้ครูมีความเจริญงอกงามทางวิชาการ สามารถพึ่งตนเองได้ และนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนการสอนตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้  ดังนั้นเรื่องการนิเทศการศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ศึกษานิเทศก์ควรจะได้ศึกษาและทำความเข้าใจในหลักการ กระบวนการ  และวิธีการของการนิเทศการศึกษาเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนต่อไปเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องของการนิเทศการศึกษาดีขึ้นจึงขอนำเอาความรู้เบื้องต้นของการนิเทศการศึกษามากล่าวถึงในรายละเอียดดังต่อไปนี้

ความหมาย

คำว่า  การนิเทศ (Supervision)   แปลว่า การให้ความช่วยเหลือแนะนำ  หรือปรับปรุง  ดังนั้น การนิเทศการศึกษาก็น่าจะหมายถึงการให้ความช่วยเหลือแนะนำ   หรือปรับปรุงเกี่ยวกับการศึกษาโดยเฉพาะในโรงเรียนได้มีผู้ให้ความหมายคำว่า การนิเทศการศึกษาไว้แตกต่างกันดังนี้

                สเปียร์ส (Spears)  ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่าการนิเทศการศึกษาเป็นกระบวนการที่จะทำให้เกิดการปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนของครู  โดยการทำงานร่วมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการนี้เป็นกระบวนกระตุ้นความเจริญก้าวหน้าของครู และมุ่งหวังที่จะช่วยเหลือครูเพื่อช่วยให้ครูได้ช่วยตนเองได้

  กูด  (Good)  ได้ให้ความหมายของการนิเทศการศึกษาว่า เป็นความพยายามของผู้ทำหน้าที่นิเทศที่จะช่วยในการให้คำแนะนำแก่ครู หรือผู้อื่นที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาให้สามารถปรับปรุงการสอนของตนให้ดีขึ้นช่วยให้เกิดความเจริญงอกงามในด้านอาชีพ  ช่วยพัฒนาความสามารถของครู

แฮร์ริส  (Harris)  ได้กล่าวถึงความหมายของการนิเทศการศึกษาว่า   หมายถึงสิ่งที่บุคลากรในโรงเรียนกระทำต่อบุคคลหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะคงไว้  หรือเปลี่ยนแปลงปรับปรุงการดำเนินการเรียนการสอนในโรงเรียน  มุ่งให้เกิดประสิทธิภาพในด้านการสอนเป็นสำคัญ

มาคส์  และสทูปส์  (Marks  and  Stoops)  ได้กล่าวถึงการนิเทศการศึกษาว่า  คุณค่าของการนิเทศการศึกษาอยู่ที่การพัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสถานการณ์  และส่งผลสะท้อนไปถึงการพัฒนานักเรียนด้วย

ชาญชัย  อาจิณสมาจาร  ได้ให้คำจำกัดความว่า  การนิเทศการศึกษา  คือกระบวนการสร้างสรรค์ ที่ไม่หยุดนิ่งในการให้คำแนะนำ  และการชี้ช่องทางในลักษณะที่เป็นกันเองแก่ครูและนักเรียน

เพื่อการปรับปรุงตัวของเขาเองและสภาพการเรียนการสอนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการศึกษาที่พึงประสงค์

      สันต์  ธรรมบำรุง  ได้ให้ความหมายว่า  การนิเทศการศึกษา  หมายถึงการช่วยเหลือ  การ

แนะนำการชี้แจง  การบริการ  การปรับปรุงที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน  ในการที่จะส่งเสริมให้ครูปรับปรุงการสอนให้ดีขึ้น

ดังนั้น  จึงอาจสรุปความหมายของการนิเทศการศึกษา  หมายถึง  กระบวนการพัฒนาครู  เพื่อให้ครูปรับปรุงและพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้การจัดการศึกษาบรรลุจุดมุ่งหมายที่วางไว้

การนิเทศการศึกษาจึงเป็นกระบวนการในการแนะนำช่วยเหลือครู   ให้สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ซึ่งการนิเทศนั้นอยู่บนหลักการของประชาธิปไตย  ได้แก่ การเคารพซึ่งกันระหว่างผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ

การนิเทศการศึกษาจัดขึ้นเพื่อปรับปรุงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้นในการปรับปรุงการ จัดกิจกรรมการเรียนรู้นี้จะสำเร็จได้ผลดีเพียงไรนั้น    ย่อมขึ้นอยู่กับทักษะและความสามารถของศึกษานิเทศก์ ผู้ทำงานร่วมกับครู  ตลอดจนเทคนิคและวิธีการต่าง ๆ  ที่ศึกษานิเทศก์นำมาใช้ในการนิเทศการศึกษาโดยให้ครู มีโอกาสค้นคว้างานที่จะต้องทำด้วยตนเอง  เพื่อให้เกิดความงอกงามขึ้น เมื่อได้เรียนรู้และมีความเจริญงอกงาม แล้วย่อมจะได้รู้จักปรับปรุงงานด้านการเรียนการสอนให้ได้ผลดีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นการนิเทศการศึกษามิใช่ เน้นการปรับปรุงตัวครูโดยเห็นว่า  ครูยังทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ในการสร้างความเจริญงอกงามให้แก่ผู้เรียน หากแต่ให้ความสำคัญไปถึงนโยบายการศึกษา  จุดประสงค์ของการให้การศึกษาการพิจารณาความเหมาะสม ของหลักสูตรที่ใช้  วัสดุอุปกรณ์การสอนและวิธีสอนของครู  สิ่งแวดล้อมของครูและผู้เรียนในขณะที่ เรียน  ตลอดจนปัญหาด้านต่าง ๆ ในส่วนตัวครูและผู้เรียนซึ่งสิ่งเหล่านี้อยู่ในขอบเขตการนิเทศการศึกษาทั้งสิ้น

ความมุ่งหมายของการนิเทศการศึกษา

ดร.สงัด  อุทรานันท์  (2530)  ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการนิเทศการศึกษาว่า  มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ 4 ประการ  ดังนี้

1)  เพื่อพัฒนาคน
2)  เพื่อพัฒนางาน
3)  เพื่อสร้างการประสานสัมพันธ์
4)  เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ

การนิเทศการศึกษาเพื่อพัฒนาคน  หมายถึง การนิเทศการศึกษาเป็นกระบวนการทำงานร่วมกันกับครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้ครูและบุคลากรได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น

การนิเทศการศึกษาเพื่อพัฒนางาน  หมายถึง  การนิเทศการศึกษามีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่ผู้เรียนซึ่งเป็นผลผลิตจากการจัดกระบวนการเรียนรู้ของครูและบุคลากรทางการศึกษา  โดยเหตุนี้การนิเทศที่จัดขึ้นจึงมีจุดมุ่งหมายที่จะ “พัฒนางาน”  คือการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ดีขึ้น

การนิเทศการศึกษาเพื่อสร้างการประสานสัมพันธ์  หมายถึง  การนิเทศการศึกษา  เป็นการสร้างการประสานสัมพันธ์ระหว่างผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ  ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานร่วมกัน  รับผิดชอบร่วมกันมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  ซึ่งไม่ใช่เป็นการทำงานภายใต้การถูกบังคับและคอยตรวจตราหรือคอยจับผิด

การนิเทศการศึกษาเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ   หมายถึง  การจัดกิจกรรมการนิเทศที่มุ่งให้กำลังใจแก่ครู และบุคลากรทางการศึกษา  ซึ่งถือว่าเป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการนิเทศ  เนื่องจากขวัญและกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้บุคคลมีความตั้งใจทำงานหากนิเทศไม่ได้สร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานแล้ว การนิเทศการศึกษาก็ย่อมประสบผลสำเร็จได้ยาก

 

อ้างอิงบทความนี้
อัญชลี ธรรมะวิธีกุล :  
https://panchalee.wordpress.com/2009/03/30/supervision/

Comments

No comments yet. Why don’t you start the discussion?

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *