พัฒนาความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนได้อย่างไร

การพัฒนาความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน เป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องช่วยกันพัฒนาให้ผู้เรียนสามารถคิดวิเคราะห์จากเนื้อหาสาระที่อ่านและถ่ายทอดให้ผู้อื่นรู้ด้วยการเขียน กระบวนการพัฒนาความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน สิ่งสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจ คือ ไม่ว่าจะเริ่มต้นด้วยกิจกรรมการเรียนรู้อย่างไร หรือจะกำหนดภาระงานในลักษณะใด ต้องให้ความสำคัญต่อความเข้าใจต่อกระบวนการพัฒนาการอ่าน คิดวิเคราะห์ของผู้เรียน โดยผ่านกระบวนการเขียนที่สามารถสะท้อนความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนของผู้เรียน ซึ่งเน้นไปที่การเขียนอย่างมีจุดมุ่งหมายตามตัวชี้วัดของแต่ละระดับ
ความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการอ่าน กระบวนการคิดวิเคราะห์ และกระบวนการเขียน ที่นำไปสู่การพัฒนาความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนของผู้เรียน แสดงได้ตามแผนภาพต่อไปนี้

แผนภาพ กระบวนการพัฒนาความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน

จากแผนภาพ ครูผู้สอนสามารถพัฒนากระบวนการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนได้ตามขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่หนึ่ง ฝึกให้ผู้เรียนอ่านอย่างมีจุดมุ่งหมาย(อ่านเพื่อให้ได้ข้อมูลอะไร เพื่ออะไร) โดยครูอาจใช้วิธีการตั้งคำถามเพื่อให้ผู้เรียนทราบว่าจะอ่านเพื่อให้ได้ข้อมูลในลักษณะใด
ขั้นที่สอง ฝึกการจัดระบบข้อมูลที่ได้จากการอ่าน โดยใช้หลักการพัฒนาทักษะการคิดของบลูม(Bloom)
ขั้นที่สาม ตรวจสอบข้อมูลที่ได้จากการอ่านว่ามีเพียงพอกับจุดมุ่งหมายที่ต้องการเขียนนำเสนอหรือไม่ ถ้ายังไม่เพียงพอ ควรแนะนำให้ผู้เรียนแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ โดยย้อนกลับไปที่ขั้นตอนแรก(อ่านเพื่อให้ได้ข้อมูลอะไร เพื่ออะไร) หากมีข้อมูลเพียงพอแล้วก็ดำเนินงานต่อในขั้นตอนต่อไป
ขั้นที่สี่ ฝึกการเขียนอย่างมีจุดมุ่งหมาย โดยยึดตัวชี้วัดของการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน ทั้งนี้ให้คำนึงถึงความสามารถในการเรียนรู้ตามตัวชี้วัดของแต่ละระดับ คือ
๑. การเตรียมการเขียน เป็นขั้นเตรียมพร้อมที่จะเขียนโดยเลือกเรื่องที่จะเขียนบนพื้นฐานของประสบการณ์
๒. การยกร่างข้อเขียน เป็นการนำความคิดมาเขียนตามรูปแบบที่กำหนด
๓. การปรับปรุงข้อเขียน เป็นการอ่านทบทวนเรื่องที่จะเขียน ปรับปรุงเรื่องที่เขียน เพิ่มเติมความคิดให้สมบูรณ์ เพื่อนำข้อเสนอแนะมาปรับปรุงอีกครั้ง
๔. การบรรณาธิการกิจ เป็นการนำข้อเขียนที่ปรับปรุงแล้วมาตรวจทาง แก้ไขให้ถูกต้อง แล้วตรวจทานอีกครั้ง
๕. การเขียนให้สมบูรณ์ เป็นการเขียนเรื่องให้สมบูรณ์แล้วตรวจทานอีกครั้ง

 

ที่มา :
แนวทางการพัฒนาและประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
พุทธศักราช ๒๕๕๑. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด,
๒๕๕๔.

Comments

No comments yet. Why don’t you start the discussion?

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *