แนวทางการลงโทษทางวินัยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กรณีการกระทำความผิดเล็กน้อย
หลักการ
การดำเนินการทางวินัยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การลงโทษข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นไปโดยถูกต้องเหมาะสมตามกระบวนการทางนิติธรรม โดยการดำเนินการทางวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และขั้นตอนการดำเนินงานปฏิบัติตามกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ. 2550
การดำเนินการทางวินัย การลงโทษข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องเป็นไปโดยความถูกต้องเหมาะสมและเป็นธรรม โดยคำสั่งลงโทษทางวินัยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นคำสั่งทางปกครอง การดำเนินการทางวินัยรวมถึงขั้นตอนต่างๆในการดำเนินการการใช้ดุลยพินิจผู้บังคับบัญชาในการกำหนดโทษทางวินัยจะต้องเป็นไปตามระเบียบขั้นตอนของกฎหมาย และต้องมีการคำนึงถึงความชอบด้วยกฎหมาย
กรณีผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจลงโทษทางวินัยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กระทำความผิดเล็กน้อย อันเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง ต้องพิจารณาตามกระบวนการขั้นตอน การใช้ดุลยพินิจ การปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ ตามระเบียบวิธีปฏิบัติที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการทางวินัยถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ กลุ่มกฎหมายและคดี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรี เขต 1 จึงจัดทำเอกสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและเป็นประโยชน์กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางวินัย กรณีการกระทำความผิดเล็กน้อย รายละเอียดตามเอกสารนี้
วัตถุประสงค์
- เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการปฏิบัติงานการดำเนินการทางวินัยของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ
- เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการใช้ดุลยพินิจพิจารณาลงโทษทางวินัย
- เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
- สาระสำคัญ
ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 มาตรา 96 ได้มีการกำหนดโทษทางวินัยของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อใช้ลงโทษผู้ที่กระทำความผิดทางวินัย
ในกรณีต่างๆตามที่ระเบียบกฎหมายกำหนดไว้โดยมีการแบ่งโทษทางวินัยออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ โทษทางวินัยประเภทร้ายแรงและโทษทางวินัยประเภทไม่ร้ายแรง และตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวยังได้มีการกำหนดโทษทางวินัยแบ่งย่อยๆเพื่อให้เหมาะสมกับความผิดและการลงโทษที่เหมาะสม โดยกำหนดโทษทางวินัยออกเป็น 5 สถาน ดังนี้
1) ภาคทัณฑ์ เป็นการลงโทษข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้กระทำความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง การกระทำความผิดวินัยที่เป็นความผิดเล็กๆน้อยๆ ซึ่งในกรณีที่เป็นการกระทำความผิดวินัยดังกล่าวอันมีเหตุอันควรที่จะงดโทษดังกล่าว จะดำเนินการโดยใช้วิธีการทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือหรือให้ผู้บังคับบัญชาว่ากล่าวตักเตือนก็ได้
2) ตัดเงินเดือน เป็นการลงโทษข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้กระทำความผิดวินัยไม่ร้ายแรง การลงโทษตัดเงินเดือนเป็นจำนวนร้อยละของเงินเดือนและตัดเงินเดือนเป็นจำนวนกี่เดือน เช่น ตัดเงินเดือนร้อยละสี่ เป็นระยะเวลาสองเดือน เมื่อพ้นระยะเวลาสองเดือนแล้วก็จะได้รับเงินเดือนตามปกติ
3) ลดเงินเดือน เป็นการลงโทษข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้กระทำความผิดวินัยไม่ร้ายแรง การลงโทษโดยการลดเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้นั้นลงเป็นจำนวนร้อยละของเงินเดือนที่ได้รับ เช่น ลดเงินเดือนจำนวนร้อยละ 4
4) ปลดออกจากราชการ เป็นการลงโทษให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ที่กระทำความผิดอันเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงโดยให้พ้นจากราชการ แต่ข้าราชการผู้นั้นยังคงมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ หรือเงินบำนาญ จากทางราชการเป็นเสมือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้นั้นลาออกจากราชการหรือออกจากราชการตามปกติ
5) ไล่ออกจากราชการ เป็นการลงโทษให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ที่กระทำความผิดอันเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง โดยให้พ้นจากราชการ ซึ่งผู้นั้นจะไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ หรือเงินบำนาญ จากทางราชการแต่อย่างใด การลงโทษไล่ออกจากราชการนั้นถือเป็นโทษที่ร้ายแรงและเป็นโทษในสถานที่หนักที่สุดของโทษทางวินัยข้าราชการพลเรือน ซึ่งอาจเปรียบโทษไล่ออกจากราชการนั้น เป็นเสมือนการประหารชีวิตทางราชการของข้าราชการผู้ที่ถูกลงโทษก็ว่าได้ ดังเช่น โทษประหารชีวิตตามกฎหมายอาญา
อำนาจดุลยพินิจของฝ่ายปกครอง คือ เสรีภาพในอันที่เลือก (Freedom of Choice) แต่ต้องมีเหตุผล อธิบายได้ การไร้เหตุผล คืออำเภอใจ
หลักทั่วไปของการใช้ดุลยพินิจ
- ใช้ดุลยพินิจภายในขอบเขตแห่งเจตนารมณ์ของกฎหมาย
- ใช้ดุลยพินิจโดยแท้ คือ พิจารณาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน
- ใช้ดุลยพินิจโดยชอบด้วยเหตุผล
- การใช้ดุลยพินิจวินิจฉัยโดยชอบด้วยเหตุผล ต้องไม่ “ฝืน” ความเห็นของวิญญูชน หรือใช้ดุลยพินิจโดยปราศจากเหตุผลอันควรค่าแก่การรับฟัง
- การใช้ดุลยพินิจตัดสินใจโดยชอบด้วยเหตุผล ตกอยู่ในบังคับของ “หลักความได้สัดส่วน” หรือ “หลักความพอสมควรแก่เหตุ” และ “การไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม”
อำนาจดุลยพินิจ คือ กฎหมายเปิดโอกาสให้ฝ่ายปกครองมีอำนาจในการเลือกตัดสินใจได้ เช่น ในความผิดวินัยร้ายแรง ฝ่ายปกครองมีดุลยพินิจในการที่จะเลือกลงโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการก็ได้ตามความร้ายแรงแห่งกรณีหรือในกรณีความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงฝ่ายปกครองมีดุลยพินิจในการเลือกลงโทษภาคทัณฑ์ หรือถ้ามีเหตุอันควรงดโทษ จะงดโทษโดยทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือหรือว่ากล่าวตักเตือนก็ได้
กรณีการกระทำความผิดเล็กน้อย และเป็นความผิดครั้งแรก ถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นว่ามีเหตุอันควรลงโทษจะงดโทษ โดยว่ากล่าวตักเตือน หรือให้ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือไว้ก่อนก็ได้ การว่ากล่าวตักเตือนหรือทำทัณฑ์บน ไม่ถือเป็นโทษทางวินัย ผู้บังคับบัญชาอาจเรียกมาตักเตือนมิให้กระทำความผิดเช่นนั้นอีก หรือให้พึงระมัดระวังโดยไม่ต้องทำเป็นหนังสือ แต่อาจมีการบันทึกหมายเหตุประจำวันของหน่วยงานหรือของผู้บังคับบัญชา แต่การทำทัณฑ์บนต้องทำเป็นหนังสือ
การลงโทษภาคทัณฑ์ ต้องทำเป็นคำสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ และเป็นโทษสำหรับกรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อย หรือมีเหตุอันควรลดหย่อนซึ่งยังไม่ถึงกับต้องถูกลงโทษตัดเงินเดือน หรือในกรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อยและมีเหตุอันควรงดโทษ จะงดโทษภาคทัณฑ์ และให้ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือ หรือทำการว่ากล่าวตักเตือนก็ได้ สำหรับโทษภาคทัณฑ์ไม่ต้องห้ามการเลื่อนเงินเดือน ตามกฎ ก.ค.ศ. การเลื่อนเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2561
ระเบียบและกฎหมาย
- ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 มาตรา ๑๐๐
ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ใดกระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรงให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือนหรือลดขั้นเงินเดือนตามควรแก่กรณีให้ เหมาะสมกับความผิด ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษก็ได้ แต่สำหรับการลงโทษภาคทัณฑ์ให้ใช้เฉพาะกรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อย หรือมีเหตุอันควรลดหย่อนซึ่งยังไม่ถึงกับจะต้องถูกลงโทษตัดเงินเดือน
ในกรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อยและมีเหตุอันควรงดโทษ จะงดโทษให้โดยให้ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือหรือว่ากล่าวตักเตือนก็ได้
การสั่งลงโทษตามวรรคหนึ่ง ผู้บังคับบัญชาใดจะมีอำนาจสั่งลงโทษผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาในสถานโทษใด ได้เพียงใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.ค.ศ.
- กฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยอำนาจการลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดเงินเดือน พ.ศ. 2561
ข้อ ๒ ให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาหรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้กระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง มีอำนาจ สั่งลงโทษได้ ดังต่อไปนี้
(๑) ภาคทัณฑ์
(๒) ตัดเงินเดือนได้ครั้งหนึ่งในอัตราร้อยละสองหรือร้อยละสี่ของเงินเดือนที่ผู้นั้นได้รับในวันที่
มีคำสั่งลงโทษเป็นเวลาหนึ่งเดือน สองเดือน หรือสามเดือน
ข้อ ๓ ให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล รัฐมนตรีเจ้าสังกัด ปลัดกระทรวง เลขาธิการ อธิบดีหรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า อธิการบดีหรือตำแหน่งที่เรียกชื่อ อย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า ศึกษาธิการภาคหรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า ศึกษาธิการจังหวัดหรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า หรือผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้กระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง มีอำนาจสั่งลงโทษได้ ดังต่อไปนี้
(๑) ภาคทัณฑ์
(๒) ตัดเงินเดือนได้ครั้งหนึ่งในอัตราร้อยละสองหรือร้อยละสี่ของเงินเดือนที่ผู้นั้นได้รับในวันที่ มีคำสั่งลงโทษเป็นเวลาหนึ่งเดือน สองเดือน หรือสามเดือน
(๓) ลดเงินเดือนได้ครั้งหนึ่งในอัตราร้อยละสองหรือร้อยละสี่ของเงินเดือนที่ผู้นั้นได้รับในวันที่ มีคำสั่งลงโทษ
- หนังสือสำนักงาน ก.ค. ที่ ศธ 1506 (สจว.)/ว 6 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2539 เรื่อง ซ้อมความเข้าใจแนวปฏิบัติในการดำเนินการทางวินัยข้าราชการครู
“ในกรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อย และมีเหตุอันควรงดโทษจะงดโทษให้โดยทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือ หรือว่ากล่าวตักเตือนก็ได้” จะเห็นได้ว่าตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ทำหนังสือเฉพาะ กรณี ทำทัณฑ์บนเท่านั้น ส่วนว่ากล่าวตักเตือนเจตนารมณ์มุ่งหมายที่จะให้ว่ากล่าวตักเตือนด้วยวาจา การว่ากล่าวตักเตือนไม่ใช่การลงโทษ จึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือ ไม่ต้องนำไปลงทะเบียนประวัติว่าเคยถูกลงโทษ ถ้าผู้บังคับบัญชาได้ว่ากล่าวตักเตือนเป็นหนังสือแก่ข้าราชการครูผู้ใด และข้าราชการครูผู้นั้นไม่ลงนามรับทราบในหนังสือฉบับนั้น ก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำความผิดวินัยฐานขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา
ลักษณะการกระทำความผิดวินัยเล็กน้อย และตัวอย่างที่ได้ดำเนินการลงโทษไปแล้ว
- ฐานความผิด “อาศัยหรือยินยอมให้ผู้อื่นอาศัยอำนาจหน้าที่ราชการของตนหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น” เช่น ละทิ้งหน้าที่ราชการไป 1 วัน อาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่ควบคุมดูแลสมุดบัญชีการ ลงเวลามาปฏิบัติราชการ ทำการลงลายมือชื่อมาปฏิบัติราชการในวันดังกล่าว (โทษภาคทัณฑ์)
- ฐานความผิด “ไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการ” เช่น ไม่ระมัดระวังทำให้แบบพิมพ์สูญหายไป (โทษ
ภาคทัณฑ์)
- ฐานความผิด “ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา” เช่น ไม่ได้มาอยู่เวรในสำนักงาน เนื่องจากไปหามารดาซึ่ง
ป่วยหนักและไม่สามารถกลับมาอยู่เวรได้ทัน และไม่ได้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เพื่อสั่งการให้ผู้อื่นมาอยู่เวรแทนแต่อย่างใด (โทษภาคทัณฑ์)
- ฐานความผิด “ไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมของทางราชการ” เช่น ขาดราชการโดยอ้างว่าป่วย โดยไม่มีใบรับรองแพทย์ประกอบการลาตามระเบียบ , ไม่ยื่นใบลาป่วยในวันแรกที่มาปฏิบัติราชการ หรือส่งใบลาป่วยล่าช้าโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร (โทษภาคทัณฑ์)
- ฐานความผิด “ไม่สุภาพเรียบร้อย” เช่น กล่าวหาและตำหนิผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ด้วยถ้อยคำ ไม่สุภาพ , เกิดโทสะท้าทายลูกจ้างประจำ ออกไปชกต่อยข้างนอกสำนักงาน (โทษภาคทัณฑ์)
- ฐานความผิด “ประพฤติชั่วไม่ร้ายแรง ประพฤติตนไม่สำรวม” เช่น ไม่ชำระหนี้กู้ยืมตามคำสั่งศาล ถูกร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาจึงยินยอมชำระหนี้ (โทษภาคทัณฑ์)
- ฐานความผิด “ไม่ต้อนรับให้ความสะดวก ให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้มาติดต่อราชการ” เช่น
ไม่ดำเนินการตรวจสอบเอกสารหลักฐานให้แก่ประชาชนที่มาติดต่อ โดยละเอียดและไม่ให้คำแนะนำที่ชัดเจนเพียงพอ เป็นเหตุให้ผู้มาติดต่อราชการจำต้องติดต่อหลายครั้ง (โทษภาคทัณฑ์)
- ฐานความผิด “กระทำหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการหาผลประโยชน์อันอาจทำให้ความเที่ยงธรรมหรือเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน” เช่น ร่วมกับบุคคลภายนอกอีก 2 คน ออกเงินกู้โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ได้รับผลประโยชน์แล้วมาแบ่งกัน (โทษภาคทัณฑ์)